Privacy Statement

ชื่อและที่อยู่อีเมล หรือข้อมูลส่วนบุคคล ที่กรอกในเว็บไซต์วารสารนี้จะใช้สำหรับวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในงานวารสารเท่านั้นและจะไม่เปิดเผยเพื่อวัตถุประสงค์ในกิจกรรมอื่น ๆ หรือให้กับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดทราบ

จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ

         วารสารอินทนิลบริหารศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กองบรรณาธิการมุ่งมั่นในการบริหารจัดการการดำเนินงานของวารสารให้อยู่ภายใต้มาตรฐานด้านจริยธรรม ในการตีพิมพ์บทความ จึงได้กำหนดจริยธรรมในกระบวนการของการตีพิมพ์บทความที่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดังนี้

บทบาท และหน้าที่ของผู้เขียน

  1. บทความที่ผู้เขียนส่งมาเพื่อพิจารณาเข้าสู่กระบวนการเผยแพร่ในวารสารอินทนิล บริหารศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้เขียนจะต้องรับรองผลงานของตนเองว่าเป็นผลงานใหม่ ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน และต้องไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของวารสาร หรืองานประชุมวิชาการอื่นใด
  2. ผู้เขียนจะต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตรงตามรูปแบบที่วารสารได้กำหนดไว้ในคำแนะนำ การเตรียมและส่งต้นฉบับทุกประการ
  3. ผู้เขียนที่มีรายชื่อปรากฏในบทความ ทุกรายชื่อที่ปรากฎจะต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินการบทความนั้นอย่างแท้จริง
  4. ผู้เขียนต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการศึกษานั้น ๆ โดยไม่บิดเบือนข้อมูล หรือแสดงข้อมูลอันเป็นเท็จ
  5. หากผู้เขียนนำผลงานส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้อื่นมาใช้ในบทความของตนเอง ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานนั้นทั้งในเนื้อหาและการอ้างอิงท้ายรายการให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่ผู้เขียนได้นำผลงานนั้นมาใช้ในบทความ ตลอดทั้งถูกต้องตามหลักการอ้างอิงทางวิชาการตามรูปแบบที่วารสารได้กำหนด
  6. ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนสนับสนุนการวิจัยในกิตติกรรมประกาศ หากบทความที่ผู้เขียนส่งมาเพื่อพิจารณาเข้าสู่กระบวนการเผยแพร่นั้นมีแหล่งทุนในการสนับสนุน
  7. ผู้เขียนต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน หากบทความของผู้เขียนนั้นมีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ

 

หน้าที่ และความรับผิดชอบของบรรณาธิการ

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่กำกับ ติดตาม ดูแลการจัดทำวารสารอินทนิลบริหารศาสตร์ให้มีคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของวารสารและศูนย์ดัชนีวารสารไทย (TCI)
  2. บรรณาธิการมีหน้าที่ตรวจสอบบทความที่ส่งมาเพื่อจารณาตีพิมพ์ โดยที่บทความนั้น ๆ จะต้องไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารอื่นมาก่อน รวมถึงตรวจสอบการคัดลอกผลงาน  
  3. หากบรรณาธิการวารสารตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่นในกระบวนการประเมินบทความ บรรณาธิการวารสารต้องหยุดกระบวนการประเมิน และติดต่อผู้เขียนหลักทันทีเพื่อขอคำชี้แจง เพื่อประกอบการปฏิเสธการตีพิมพ์บทความนั้น ๆ
  4. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ โดยใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความ ไม่มีอคติในการพิจารณาบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอินทนิลบริหารศาสตร์ และกลั่นกรองบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ โดยพิจารณาเนื้อหาบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร
  5. บรรณาธิการมีหน้าที่ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญตรงกับสาขาของบทความนั้น ๆ ที่จะทำการประเมินคุณภาพของบทความ โดยผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ กับผู้เขียน
  6. บรรณาธิการวารสารต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ ตลอดทั้งบรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความให้ทราบต่อกัน
  7. บรรณาธิการจะพิจารณาตีพิมพ์บทความที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ และผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการ และผู้เขียนได้ทำการปรับแก้ตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิและกองบรรณาธิการแล้วเท่านั้น
  8. บรรณาธิการต้องธำรงไว้ซึ่งจริยธรรม จรรยาบรรณการทำงานอย่างเคร่งครัด ตลอดทั้งบรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียนและผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความ

บทบาทและหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิในการประเมินบทความ  

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความควรตอบรับประเมินบทความเฉพาะสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาของบทความที่รับประเมินอย่างแท้จริง
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความควรประเมินบทความตามมาตรฐานตามหลักวิชาการ มีระเบียบวิธีการวิจัยถูกต้อง มีกระบวนการพิจารณาเนื้อหาในบทความและความเข้มข้นของผลงาน โดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว มีการให้ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะในเชิงวิชาการเพื่อให้บทความมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
  3. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ ต้องรักษาความลับและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  4. หลังจากได้รับบทความจากบรรณาธิการวารสาร และผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความตระหนักว่าตัวเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน เช่น เป็นผู้ร่วมโครงการ หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่สามารถให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะอย่างอิสระได้ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ และปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
  5. หากผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความทราบว่ามีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบโดยทันที
  6. ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการประเมิน ตลอดทั้งรักษาระยะเวลาในการประเมินบทความตามกรอบระยะเวลาที่วารสารได้กำหนด