การวิจัยเชิงอนาคตเพื่อการวางแผนองค์กร

Authors

  • สมศักดิ์ ลิลา นักวิชาการอิสระ

Keywords:

การวิจัยเชิงอนาคต, ฉากทัศน์, การวางแผนองค์กร

Abstract

          การศึกษาคาดการณ์เกี่ยวกับเกี่ยวกับอนาคตมีมานานแล้ว แต่ที่มีการศึกษาเป็นระบบนั้นเริ่มมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษ 1950 มนุษย์เชื่อว่าถ้าเราทราบปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้เราสามารถวางแผนรับมือกับสิ่งเลวร้ายในอนาคตได้ และสามารถสร้างโอกาสหรือส่งเสริมให้เกิดปรากฏการณ์ในทางดีได้ ยิ่งกว่านั้น เราเชื่อว่าจะสามารถกำหนดหรือสร้างสรรค์ปรากฏการณ์ที่มนุษย์พึงปรารถนาได้ การวิจัยเชิงอนาคตจึงถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ถ้าหากมีการนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนองค์กร น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่ากิจกรรมแค่เพียงศึกษาทำนายปรากฏการณ์เท่านั้น ในขณะที่การวางแผนองค์กรในโลกยุคใหม่ที่มีความผันแปรไม่แน่นอนสูงก็จะมีทิศทางชัดเจน สร้างสรรค์และมีความท้าทายสูงมากยิ่งขึ้น

          การวิจัยเชิงอนาคตมีหลายประเภท แนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยเชิงอนาคตมีหลายกลุ่ม และหลากหลายวิธีการ การวิจัยเชิงอนาคตที่จะกล่าวถึงนี้เป็นทั้งวิธีการเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ แต่ไม่ใช่ลักษณะการคาดการณ์ที่สามารถอธิบายถึงโอกาส หรือความน่าจะเป็นของการเกิดเหตุการณ์ในอนาคตด้วยวิธีการทางสถิติ จึงไม่เกี่ยวกับความแม่นยำและความคลาดเคลื่อนในการพยากรณ์ แต่เป็นการทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นไปได้และสิ่งทึ่พึงปรารถนาในอนาคตอย่างเป็นระบบ
รวมถึงการวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ใดส่งผลกระทบต่ออนาคตมากน้อยเพียงใด ประโยชน์ที่ได้จากการวิจัยนี้ คือกรอบหรือโครงร่างการวางแผนพัฒนากลยุทธ์เพื่อกำหนดอนาคตองค์กรที่เปิดใจให้พิจารณาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ใหม่ ๆที่ไม่พึงปรารถนา โดยการนำวิธีการวิจัยเชิงอนาคต เช่น วิธีการเชิงมนุษย์วิทยา (EFR) วิธีการเดลฟาย (Delphi Technique) และวิธีการทั้งสองวิธีร่วมกัน ที่เรียกว่า EDFR มาผสมผสานประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญกับฉากทัศน์ (Scenarios) ใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผน เพื่อเป็นทางเลือกที่ท้าทายขององค์กร ที่เหมาะกับโลกยุคโลกปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

Downloads

Published

2024-07-01