โมเดลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันความสามารถในการแข่งขันของโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
Factor Analysis Model Confirming Competitiveness of Secondary Schools in Bangkok Area
Keywords:
การวิเคราะห์องค์ประกอบ, ความสามารถในการแข่งขัน, โรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, Factor Analysis, Competitiveness, Secondary Schools in the Bangkok AreaAbstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ประกอบความสามารถในการแข่งขันของโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขั้นตอนการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 1) ศึกษาจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และ 2) ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลองค์ประกอบความสามารถในการแข่งขันของโรงเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือ ครู จำนวน 370 คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย การวิจัยเป็นแบบวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามสร้างขึ้นโดยผู้วิจัย มีค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.83
ผลการวิจัยพบว่า 1) ความสามารถในการแข่งขันของโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มี 7 องค์ประกอบ 18 ตัวชี้วัด ด้านที่ 1 การบริหารเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารสถานศึกษา มี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านการจัดทำกลยุทธ์ 2) ด้านการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ และ 3) การประเมินและควบคุมกลยุทธ์ ด้านที่ 2 การบริหารความเสี่ยง มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) การกำกับดูแลกิจการและวัฒนธรรมองค์กร และ 2) การจัดการความเสี่ยง ด้านที่ 3 การบริหารเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ มี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ความร่วมมือของเครือข่ายในการพัฒนางานวิชาการ 2) ภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารเครือข่าย และ 3) นโยบายและโครงสร้างการบริหารงานวิชาการของเครือข่าย ด้านที่ 4 การบริหารจัดการทุนมนุษย์ทางการศึกษา มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) การพัฒนาความรู้ และ 2) การพัฒนาทักษะ ด้านที่ 5 คุณลักษณะของผู้เรียนที่มีคุณภาพสูง มี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่
1) ความสามารถในการคิดเชิงระบบ 2) ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ และ 3) ความสามารถในการคาดการณ์ ด้านที่ 6 การบริหารเพื่อความเป็นเลิศของสถานศึกษา มี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) เป็นผู้บริหารมืออาชีพ 2) ส่งเสริมให้นักเรียนมีความสามารถเต็มตามศักยภาพ และด้านที่ 7 สมรรถนะของผู้บริหารสถานศึกษา มี 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านคุณธรรมจริยธรรม 2) ด้านสมรรถนะเทคโนโลยี และ 3) ด้านการคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม
2) ผลการทดสอบความสอดคล้องของโมเดลองค์ประกอบความสามารถในการแข่งขันของโรงเรียนมัธยมศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่า มีค่าไคสแควร์ = 105.05 ค่า p = .052 ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) = .98 ค่าดัชนีความกลมกลืนที่ปรับแล้ว (AGFI) = .971 และค่าประมาณความคลาดเคลื่อนของรากกำลังที่สองเฉลี่ย (RMSEA) = .020 โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์