จากแนวคิดครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรมของเปาโล แฟรร์ สู่การสร้างโมดูลการเรียนรู้ “ห้องเรียนคือพื้นที่ทางวัฒนธรรม”

ผู้แต่ง

  • อรรฏชณม์ สัจจะพัฒนกุล มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม

คำสำคัญ:

เปาโล แฟร์, ห้องเรียนวัฒนธรรม, การศึกษาเชิงวิพากษ์

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสำรวจและวิเคราะห์หลักการสร้างห้องเรียนวัฒนธรรมจากแนวคิดครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรมของเปาโล แฟรร์ 2) เพื่อสร้างโมดูลการเรียนรู้ห้องเรียนวัฒนธรรมสำหรับนักศึกษาครูในรายวิชาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพผ่านการวิจัยเอกสาร ผลการวิจัย พบว่า 1. หลักการสร้างห้องเรียนวัฒนธรรมจากแนวคิดครูในฐานะผู้ทำงานทางวัฒนธรรมของเปาโล แฟร์ ให้ความสำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของมนุษยนิยม การส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสำนึกเชิงวิพากษ์และตระหนักรู้ต่อโลกชีวิตที่เขาดำรงอยู่ ปลดปล่อยผู้เรียนให้เป็นอิสระจากความไม่รู้และความกดขี่ จึงเป็นหลักการสำคัญในการสร้างห้องเรียนวัฒนธรรม 2. โมดูลการเรียนรู้ “ห้องเรียนวัฒนธรรม” เรื่อง “อำนาจในระบบการศึกษา” ประกอบไปด้วย 4 โมดูลย่อย ได้แก่ 1) โลกชีวิตและอัตลักษณ์ครู 2) การเมืองของการนิยามความหมาย: ถอดรหัสอำนาจในโลกการศึกษา 3) โรงเรียนประชาธิปไตยและภารกิจเพื่อการเติบโต 4) ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม การสอนด้วยความหวังและมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลง

Downloads

เผยแพร่แล้ว

30-06-2025