จริยธรรมการเผยแพร่

วารสารรามคำแหง ฉบับคณะศึกษาศาสตร์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ดำเนินการตามหลักจริยธรรมสำหรับการตีพิมพ์เผยแพร่บทความในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1.จริยธรรมของบรรณาธิการ

1.1 บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาและคัดเลือกบทความที่มีคุณภาพเพื่อนำมาตีพิมพ์เผยแพร่โดยคำนึงถึงนโยบาย เป้าหมายและขอบเขตของเนื้อหาบทความตามที่วารสารกำหนด ความถูกต้องของระเบียบวิธีวิจัยตลอดจนประโยชน์ที่ส่งผลต่อการพัฒนาความรู้ทางวิชาการและวิจัยในด้านการศึกษาและในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง

1.2 บรรณาธิการต้องยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความสุจริต เป็นกลาง ปราศจากอคติและความลำเอียง ตลอดจนรักษาความลับ (confidentiality) ของทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนบทความตลอดระยะเวลาในการประเมินคุณภาพบทความและกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ

1.3 บรรณาธิการต้องตรวจสอบการลักลอกวรรณกรรม (plagiarism) การคัดลอก (quotation) และ    การอ้างอิงแหล่งข้อมูลใด ๆ ของผู้เขียนบทความให้ถูกต้องและเป็นไปตามแนวทางที่วารสารได้กำหนดไว้ 

1.4 บรรณาธิการต้องไม่นำบทความที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจากวารสารอื่นมาตีพิมพ์ รวมทั้งบทความที่เคยตีพิมพ์แล้วมาพิมพ์ซ้ำ ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีผู้เขียนบทความกระทำพฤติกรรมดังกล่าว บรรณาธิการต้องถอนบทความนั้นออกจากกระบวนการพิจารณาและประเมินบทความเพื่อตีพิมพ์ในทันทีโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียนบทความ

1.5 บรรณาธิการต้องไม่นำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของผลงานของผู้เขียนบทความไปเป็นผลงานทางวิชาการของตน รวมทั้งต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflicts of intertest) ทั้งต่อผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ

 

2. จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ

2.1 ผู้ทรงคุณวุฒิผู้ทำหน้าที่พิจารณาประเมินบทความ (peer-reviewers) ต้องทำหน้าที่ด้วยความสุจริต ปราศจากอคติและความลำเอียง คำนึงถึงความถูกต้องทางวิชาการและระเบียบวิธีวิจัยเป็นสำคัญ ตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่อบทความด้วยเหตุผลและมีอิสระทางวิชาการ

2.2 ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับของทุกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้เขียนบทความ (author) และบทความ (article) ตลอดระยะเวลาของการทำหน้าที่เป็นผู้ประเมิน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนต่อผู้เขียนบทความและบรรณาธิการ

 2.3 ผู้ประเมินบทความควรพิจารณาบทความที่มีเนื้อหาตรงหรือสัมพันธ์กับในสาขาวิชาที่เชี่ยวชาญโดยพิจารณาถึงความถูกต้องทางวิชาการ ความลุ่มลึกของเนื้อหา การอธิบายและแสดงเหตุผลอย่างมีวิจารณญาณในประเด็นที่นำเสนอ ตลอดจนความทันสมัยของเนื้อหาบทความ

2.4 ผู้ประเมินบทความต้องไม่นำส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของบทความที่ประเมินไปเป็นผลงานทางวิชาการของตน 

2.5 หากผู้ประเมินบทความพบว่ามีการลักลอกวรรณกรรม รวมทั้งการให้ข้อมูลทางวิชาการที่บิดเบือนและเป็นเท็จ ผู้ประเมินบทความต้องรีบแจ้งกองบรรณาธิการให้รับทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขหรือถอนบทความนั้น

 

3. จริยธรรมของผู้นิพนธ์

3.1 ผู้เขียนบทความ (และคณะ) ในฐานะของผู้วิจัยต้องรับผิดชอบต่อความเป็นผู้นิพนธ์ (authorship)    โดยเป็นผู้มีส่วนร่วมในการศึกษาและกำหนดแนวคิดในการวิจัย การออกแบบการวิจัย การสร้างเครื่องมือวิจัย การเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล แปลผลข้อมูล การอภิปรายผลข้อมูล ตลอดจนเป็นผู้มีส่วนร่วมในการร่างบทความ และปรับปรุงแก้ไข และตรวจสอบความสมบูรณ์ของบทความตลอดกระบวนการในการตีพิมพ์เผยแพร่

3.2 ผู้เขียนต้องรับรองว่าบทความของตนเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน หรือไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์ที่อื่น หากมีการตรวจพบกรณีดังกล่าวในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของการส่งบทความ ผู้เขียนบทความต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วารสารกำหนด และให้ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความ (และคณะ) แต่เพียงผู้เดียว 

3.3 ผู้เขียนบทความต้องไม่ลอกเลียนวรรณกรรม (plagiarism) จากผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาเป็นของตน รวมทั้งการลอกเลียนผลงานของตนเอง (self-plagiarism) ทั้งนี้ วารสารจะตรวจสอบการลอกเลียนวรรณกรรมด้วยอักขราวิสุทธิ์หรือโปรแกรมอื่นที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่วารสารกำหนด

3.4 ผู้เขียนบทความต้องรับผิดชอบต่อข้อมูลที่ปรากฎในบทความ ต้องไม่มีการปลอมแปลงข้อมูลในงานวิจัย การสร้างข้อมูลเท็จ การปลอมแปลงข้อมูล หรือบิดเบือนข้อมูลโดยเด็ดขาด

3.5 ผู้เขียนบทความ (และคณะ) ต้องรับผิดชอบต่อเนื้อหา ข้อมูล ข้อความ ภาพ ตาราง แผนภาพ แผนผัง หรือข้อมูลใด ๆ ที่ปรากฎในบทความ โดยเฉพาะการจัดการรูปภาพ ควรพิจารณาใช้รูปภาพที่ได้จากการถ่ายภาพด้วยตนเองก่อน หากมีความจำเป็นต้องใช้รูปภาพจากแหล่งอื่น ให้ขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน ตลอดจนอ้างอิงแหล่งที่มาของรูปภาพและตรวจสอบลิขสิทธิ์ของรูปภาพให้เป็นไปตามหลักการสากล หากเป็นการถ่ายรูปบุคคลหรือสถานที่ ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการระบุตัวตนของบุคคลได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้ยึดถือและปฏิบัติตามหลักจริยธรรมการวิจัยอย่างเคร่งครัด 

3.6 ผู้เขียนบทความต้องอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และปฏิบัติตามแนวทางการเขียนรายการอ้างอิงตามที่วารสารกำหนด

3.7 ผู้เขียนบทความต้องปรับปรุงแก้ไขบทความให้ถูกต้องตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิและ กองบรรณาธิการ ภายในระยะเวลาที่กำหนด

3.8 ผู้เขียนบทความต้องระบุแหล่งทุน (ถ้ามี)

3.9 ผู้เขียนต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

 

4. จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์

งานวิจัยที่ได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์แล้ว และประสงค์จะตีพิมพ์ผลงานลงในบทความของวารสารรามคำแหง ฉบับคณะศึกษาศาสตร์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ขอให้ผู้วิจัยในฐานะผู้เขียนบทความแสดงหลักฐานแนบมาในตอนส่งบทความ