การศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบนโยบายการปราบปรามยาเสพติดกับนโยบายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย : กรณีศึกษาระดับหมู่บ้านในจังหวัดกาญจนบุรี

Main Article Content

ธนโรจน์ หล่อธนะไพศาล

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการปราบปรามยาเสพติดกับนโยบายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยในระดับหมู่บ้าน จังหวัดกาญจนบุรี รวมถึงการวิเคราะห์ความแตกต่างของผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจจากการดำเนินนโยบายทั้งสองในชุมชน และศึกษาความคิดเห็นและทัศนคติของชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับผลของนโยบายที่ดำเนินการ โดยใช้วิธีการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งมีการเก็บข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การสังเกตการณ์ชุมชน 1 ปี ผลการวิจัยพบว่า นโยบายการปราบปรามยาเสพติดในระดับชุมชนสามารถลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในระยะสั้นได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการจัดการปัญหาผู้เสพในระยะยาว โดยเฉพาะในกรณีของการขาดแคลนระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพ แต่สมาชิกในชุมชนยังต้องการให้มีนโยบายนี้ต่อไปแม้การปราบปรามอาจทำให้เกิดความตึงเครียดในชุมชนและการแยกตัวของผู้เสพจากสังคม ในขณะที่นโยบายเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยกลับพบว่าไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากชุมชน แม้ฟื้นฟูผู้เสพให้กลับคืนสู่สังคมเป็นที่ต้องการของชุมชน  แต่ชุมชนมีทัศนคติในทางบวกเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้เสพโดยไม่มองเป็นอาชญากรและเห็นว่าผู้เสพที่ได้รับการบำบัดมีโอกาสในการกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติ  การเปรียบเทียบผลกระทบการดำเนินนโยบายทั้งสองพบว่า นโยบายปราบปรามยาเสพติดส่งผลให้เกิดความปลอดภัยในระยะสั้น แต่ในระยะยาวยังคงมีปัญหาผู้เสพที่ไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้ ส่วนการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยช่วยลดผลกระทบทางสังคมและส่งผลดีในระยะยาว แต่กลับไม่มีผลทำให้ผู้เสพลดลงแต่อย่างใด ทั้งสองนโยบายมีข้อดีและข้อจำกัดของตนเอง แต่การผสมผสานระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดอย่างเหมาะสมและยั่งยืนอาจจะเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหายาเสพติดในชุมชนได้

Article Details

บท
Research article