จริยธรรมการตีพิมพ์
เพื่อให้การดำเนินงานของ Journal of Digital Education and Learning Engineering (JDELE) มีขั้นตอนและกระบวนการเป็นไปโดยสอดคล้องกับมาตรฐานการดำเนินงานเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ของสำนักพิมพ์และวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ทางกองบรรณาธิการของวารสารจึงได้กำหนดกรอบหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเชิงจริยธรรมในการตีพิมพ์เผยแพร่บทความผลงานทางวิชาการ ซึ่งเป็นไปโดยสอดคล้องกันกับข้อเสนอแนะทางจริยธรรมการตีพิมพ์มาตรฐานของสำนักพิมพ์ ELSEVIER ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
หน้าที่ของบรรณาธิการ:
1) บรรณาธิการมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการพิจารณาคัดเลือกบทความต้นฉบับที่ส่งมาทุกบทความ และประเมินข้อสรุปเพื่อตัดสินใจการอนุมัติการตีพิมพ์เผยแพร่บทความต้นฉบับเป็นผลงานทางวิชาการของวารสาร โดยพิจารณาและคำนึงถึงเงื่อนไขและข้อกำหนดของวารสาร คุณภาพของผลงานที่มีผลกระทบต่อความก้าวหน้าของวงการวิชาการ และคุณประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อชุมชนนักวิชาการและผู้ติดตามอ่านบทความดังกล่าว
2) บรรณาธิการต้องอำนวยการให้กระบวนการประเมินคุณภาพบทความต้นฉบับโดยผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรมตามหลักวิชาการ ปราศจากอคติอย่างใดอย่างหนึ่ง และใช้ระยะเวลาเพื่อการดำเนินการที่เหมาะสม และควรต้องพิจารณาเลือกกำหนดผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อการประเมินคุณภาพของบทความโดยอิงกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือประสบการณ์และความชำนาญที่เกี่ยวข้องของผู้ประเมิน
3) เพื่อดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม บรรณาธิการควรต้องพิจารณาคัดเลือกและประเมินผลเพื่อการตัดสินใจการตีพิมพ์เผยแพร่บทความต้นฉบับบนพื้นฐานคุณภาพและความสมบูรณ์ของบทความ โดยปราศจากปัจจัยอื่นของผู้เขียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลงาน เช่น เชื้อชาติ เพศ ศาสนา ต้นกำเนิด หรือแนวคิดทางการเมือง และควรดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวผ่านระบบวารสารอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
4) บรรณาธิการต้องไม่สร้างการแทรกแซงที่ไม่เหมาะสมในกระบวนการใด ๆ ก็ตามอันจะยังผลลัพธ์ให้เป็นการเพิ่มลำดับคุณภาพของวารสารที่ตนเป็นผู้ดำเนินการ ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องให้ผู้เขียนเพิ่มเติมเอกสารอ้างอิงของตนเอง (ยกเว้นกรณีที่เป็นเจตนาเพื่อปรับปรุงคุณภาพของบทความ) การให้ผู้เขียนเขียนระบุถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสีย
5) บรรณาธิการต้องเก็บรักษาข้อมูล ประจักษ์พยาน สารสนเทศต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามาเพื่อขอรับการพิจารณาและประเมินการตีพิมพ์เผยแพร่กับวารสารให้เป็นความลับ และห้ามเปิดเผยข้อมูลการสื่อสารอย่างหนึ่งอย่างใดของผู้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความโดยเด็ดขาด
6) เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ในการดำเนินการโดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน บรรณาธิการต้องหลีกเลี่ยงการมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือกและประเมินข้อสรุปเพื่อตัดสินใจต่อบทความต้นฉบับที่ตนเองเป็นผู้เขียนเรียบเรียง หรือที่ผู้เขียนเรียบเรียงมีความสัมพันธ์กันทางครอบตัว หรือที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตนเองมีส่วนได้ส่วนเสีย
7) บรรณาธิการต้องปฏิบัติงานตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ของวารสารอย่างเคร่งครัด เพื่อตรวจสอบผลงานที่จะถูกนำมาเผยแพร่ให้เป็นสาธารณะและอำนวยการงานการตีพิมพ์เผยแพร่ของวารสารให้สมบูรณ์และสำเร็จลุล่วงเป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงานรับผิดชอบ
หน้าที่ของผุ้ทรงคุณวุฒิประเมินบทความ:
1) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินคุณภาพบทความอย่างเที่ยงธรรมตามหลักวิชาการเพื่อสนับสนุนการลงข้อสรุปเพื่อตัดสินใจของบรรณาธิการ และให้ข้อคิดเห็นในการประเมินเพื่อการปรับปรุงคุณภาพของบทความผลงานทางวิชาการของวารสาร
2) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องรักษาข้อมูลทุกส่วนของบทความเป็นความลับ ไม่นำข้อมูลส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความต้นฉบับไปแลกเปลี่ยนเผยแพร่ หรือใช้ประโยชน์ส่วนบุคคลโดยปราศจากการได้รับการอนุญาตจากบรรณาธิการ รวมทั้งต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาที่วารสารกำหนดให้
3) หากผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบพบว่าบทความต้นฉบับที่ได้รับการมอบหมายให้ประเมินคุณภาพอาจมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับจริยธรรมการตีพิมพ์ เช่น การคัดลอกผลงานชิ้นอื่น การทำซ้ำผลงานเดิมที่เคยเผยแพร่แล้ว การไม่อ้างอิงหรือกล่าวถึงเจ้าของผลงานก่อนหน้า การส่งผลงานชิ้นเดียวพร้อมกันไปหาวารสารวิชาการ เป็นต้น ผู้ทรงคุณวุฒิต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันที พร้อมแสดงหลักฐานประกอบที่ชัดเจน
4) ผู้ทรงคุณวุฒิต้องประเมินบทความต้นฉบับด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากความอคติ ความลำเอียง ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือและไม่เป็นไปตามหลักวิชาการมาเป็นเกณฑ์ในการประเมินบทความ และควรจะต้องให้ข้อเสนอแนะจากการประเมินที่ผู้เขียนสามารถนำไปปรับปรุงคุณภาพการเขียนเรียบเรียงบทความได้
หน้าที่ของผู้เขียน:
1) ผู้เขียนทุกคนที่มีชื่อปรากฏในบทความต้นฉบับต้องเป็นผู้ที่ส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานอย่างหนึ่งอย่างใดในการวิจัยอย่างแท้จริง
2) ผู้เขียนต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมาเพื่อขอรับการพิจารณาและประเมินคุณภาพนั้น เป็นผลงานใหม่ที่่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่วารสารใดมาก่อนหน้าและต้องไม่อยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการอื่นใด และถ้ามีการกล่าวถึงหรือใช้วลีหรือคำบรรยายที่เคยปรากฏในบทความผลงานทางวิชาการอื่นใด จะต้องเขียนอ้างอิงให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและข้อกำหนดของวารสารวิชาการ
3) ผู้เขียนอาจถูกสอบถามเพื่อการให้ส่งข้อมูลดิบหรือข้อมูลที่ยังไม่ได้ถูกจัดกระทำเพื่อการตรวจสอบในกระบวนการประเมินคุณภาพบทความ โดยผู้เขียนควรจัดเตรียมชุดข้อมูลดังกล่าวให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นสาธารณะ
4) ผู้เขียนไม่ควรส่งบทความต้นฉบับเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกและประเมินคุณภาพบทความจากผลงานวิจัยเรื่องเดียวกันไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการมากกว่าหนึ่งวารสาร และต้องไม่ส่งบทความต้นฉบับเดียวกันไปขอรับการเข้าสู่กระบวนการของวารสารมากกว่าหนึ่งวารสารโดยพร้อมกัน
5) ผู้เขียนต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลเมื่อนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในผลงานของตนเองเสมอ พร้อมทั้งจัดทำรายการอ้างอิงท้ายบทความให้ถูกต้องและครบถ้วน
6) การเขียนถึงข้อมูลที่ยังอยู่ในระหว่างกระบวนการปกปิด เช่น บทความที่กำลังอยู่ในการประเมินคุณภาพ ข้อเสนอโครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการส่งเสนอการประเมินโดยแหล่งทุน เป็นต้น ต้องได้รับการอนุญาตจากบุคคลที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เขียนก่อนเสมอ หรือต้องเป็นการดำเนินการโดยสอดคล้องเป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนนั้น ๆ
7) ถ้าผู้เขียนพบว่ามีการนำเสนอข้อมูลหรือสารสนเทศคลาดเคลื่อนในส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ ควรจะแจ้งเตือนให้บรรณาธิการได้รับทราบโดยทันทีเพื่อนำไปสู่กระบวนการปรับแก้ให้ถูกต้องต่อไป
8) ผู้เขียนต้องรายงานข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการทำวิจัย ไม่บิดเบือนข้อมูลหรือให้สารสนเทศที่เป็นเท็จเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด และต้องเขียนเรียบเรียงรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ ให้ชัดเจนและมากเพียงพอที่ผู้อ่านบทความสามารถที่จะดำเนินการศึกษาโดยทำซ้ำเองได้
9) กรณีเป็นผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการใช้สารเคมี ขั้นตอนดำเนินงานหรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพสินย์ในการใช้งาน ผู้เขียนควรเขียนเรียบเรียงถ้อยแถลงที่เกี่ยวข้องการความเอาใจใส่และความระมัดระวังไว้อย่างชัดเจนในบทความ และหากเกี่ยวข้องการใช้สัตว์ทดลองหรือทดลองกับมนุษย์ ผู้เขียนควรระบุเลขที่ใบรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ไว้ด้วย (ถ้ามี)
10) ผู้เขียนไม่ควรปรับแก้ไขรูปภาพต้นฉบับเพื่อเติมแต่งให้เป็นสารสนเทศตามความต้องการของตนเอง (ควรคงไว้ซึ่งรูปภาพต้นฉบับ) และควรจะส่งไฟล์รูปภาพหรือภาพประกอบที่ปรากฎในบทความต้นฉบับแนบไว้เป็นไฟล์เพิ่มเติมประกอบบทความเพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่ด้วย