การสร้างสรรค์ศิลปะเสียงปฏิสัมพันธ์ : ‘พูดกับฉันสิ’ และ ‘ร่างกายกังวาน’
Main Article Content
บทคัดย่อ
บทความนี้นำเสนอการศึกษาส่วนแรกของโครงการวิจัยสร้างสรรค์ “ศิลปะเสียงมนุษย์: กายภาพ ความหมาย และอัตลักษณ์” ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นฐานของเสียงมนุษย์ใน 2 ด้านได้แก่ ได้แก่ ก) ลักษณะทางกายภาพของเสียงในฐานะคลื่น ข) ความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับขนาดพื้นที่ภายในร่างกาย หลังจากนั้นกลุ่มผู้วิจัยจึงปรับประยุกต์ข้อมูลมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเสียงปฏิสัมพันธ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักรู้ของการมีอยู่ของเสียงมนุษย์ พร้อมกับเป็นการเปิดทางให้เสียงมนุษย์สามารถเป็นเรื่องในวงการทัศนศิลป์ร่วมสมัยของไทย
ภัทรพงศ์ ศรีปัญญา ได้ศึกษาลักษณะทางกายภาพของเสียงในฐานะคลื่น และเปลี่ยนคลื่นเสียงพูดของผู้ชมให้เป็นภาพเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ใน พูดกับฉันสิ (2560) โดยการวิเคราะห์เสียงด้วยเทคนิค Fast Fourier Transform Algorithm และการใช้ MAX MSP และ Processing ในการแสดงผลการวิเคราะห์ย่านความถี่ให้กลายเป็นภาพกราฟฟิก เตยงาม คุปตะบุตร ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงกับขนาดพื้นที่ภายในร่างกายเพื่อสร้าง ร่างกายกังวาน (2560) ผลงานนำเสนอกล่องลำโพงในฐานะภาพตัวแทนของพื้นที่ภายในร่างกายที่มีขนาดและความสลับซับซ้อนที่แตกต่างกัน เสียงของผู้ชมถูกเล่นในกล่องเหล่านี้ ผู้ชมได้พินิจลักษณะการสะท้อน และความก้องกังวานของเสียงตัวเอง ระบบของผลงานทั้งคู่ถูกทำให้เชื่อมต่อกัน ผู้ชมพูดที่ไมโครโฟนในผลงาน พูดกับฉัน เพื่อชมภาพเคลื่อนไหว โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นการบันทึกเสียงไปในตัว หลังจากนั้นจึงได้ยินเสียงของตัวเองใน ร่างกายกังวาน ผลงานแสดงผลของการเรียนรู้ตามเป้าหมายได้ครบถ้วน และยังได้เปิดประเด็นเรื่องการตระหนักรู้ถึงอัตลักษณ์ของเสียงของผู้ชม สำหรับการพัฒนาและสร้างสรรค์ในขั้นต่อไป
Article Details

This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.