เกี่ยวกับวารสาร
1.ขอบเขตวารสาร
วารสารเน้นสาขาวิชาในด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือมนุษย์ในด้านใดด้านหนึ่งของไทย เช่น ศาสนา วัฒนธรรม ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ พัฒนาสังคม พัฒนาชุมชน รัฐประศาสนศาสตร์ บริหารการศึกษา การศึกษาการสอนเชิงประยุกต์ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐมิติและการเงิน บริหารธุรกิจ ฯ รวมถึงสหวิทยาการอื่น ๆที่เกี่ยวข้องกับสังคม อาทิ วิทยาศาสตร์สุขภาพ หรือ การพยาบาลฯ
บทความที่ได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์จะต้องมีสาระที่น่าสนใจต่อสังคมหรือเป็นปัญหาที่ถกเถียงในสังคม หรือวิวาทะในสังคม โดยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ บทความอาจเป็นมุมมองสังคมใหม่ อาจเป็นองค์ความรู้ใหม่ หรือนำเสนอองค์ความรู้เดิมในมุมมองใหม่ และไม่เคยถูกนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารอื่นมาก่อน รวมถึงไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่นใด
2.ข้อกำหนด
บทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อย 2-3 ท่านในรูปแบบที่ผู้พิจารณาบทความไม่ทราบชื่อหรือข้อมูลของผู้เขียนบทความ และผู้เขียนบทความไม่ทราบชื่อผู้พิจารณาบทความ (Double-blind Peer Review)
วารสารสังคมศาสตร์ไทยเปิดรับบทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยรับพิจารณาตีพิมพ์ต้นฉบับของทุกบุคคล แม้เป็นบทความในลักษณะวิพากษ์สังคม การเมืองฯ ผลงานที่ส่งมาจะต้องไม่เคยตีพิมพ์หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น ผู้เขียนบทความจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเสนอบทความวิชาการหรือบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอย่างเคร่งครัด รวมทั้งระบบการอ้างอิงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวารสาร
3.นโยบาย
ทัศนะและข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความวารสารถือเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความนั้น มิใช่ความคิดของคณะผู้จัดทำ และไม่ถือเป็นทัศนะและความรับผิดชอบของกองบรรณาธิการ ทั้งนี้กองบรรณาธิการไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการคัดลอกแต่ให้อ้างอิงแสดงที่มา
4.ค่าธรรมเนียม
-วารสารไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ในทุกขั้นตอนในขณะนี้
-บทความจากนักศึกษาปริญญาตรี หรือบทความที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษจะได้รับค่าตอบแทน เรื่องละ 2,000บาท (นักศึกษาปริญญาตรี ต้องแสดงสำเนาบัตรนักศึกษาที่ยังไม่หมดอายุ)
5.กำหนดการเผยแพร่
วารสารได้เริ่มจัดทำและตีพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2567 ได้เริ่มจัดทำในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะมีการเผยแพร่ระบบออนไลน์เพียงช่องทางเดียว ตั้งแต่ พ.ศ.2567 หมายเลข ISSN:3057-0190 (Online) โดยวารสารมี นโยบายกำหนดกระบวนพิจารณาบทความให้เสร็จภายใน 30วันและบรรจุบทความนั้นขึ้นสู่วารสารทันทีที่เสร็จกระบวนพิจารณาบทความ
ปัจจุบันวารสารมีกำหนดการเผยแพร่ปีละ 3 ฉบับ ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม- เมษายน
ฉบับที่ 2 เดือนพฤษภาคม- สิงหาคม
ฉบับที่ 3 เดือนกันยายน- ธันวาคม
6.ภาษาที่รับตีพิมพ์
วารสารสังคมศาสตร์ไทยรับพิจารณาตีพิมพ์บทความทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยบทความที่ได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์จะต้องมีสาระที่น่าสนใจต่อสังคม
7.ประเภทของผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร
การส่งบทความต้องจัดพิมพ์ตามรูปแบบที่กำหนด และต้องผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชานั้น ๆ จึงจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร บทความที่วารสารรับพิจารณาตีพิมพ์แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1) บทความวิชาการ (Academic Articles) เป็นบทความวิเคราะห์ วิจารณ์หรือเสนอแนวคิดใหม่เป็นงานเขียนวิชาการซึ่งมีการวิเคราะห์ประเด็นตามหลักวิชาการ บทความมีการสำรวจวรรณกรรมและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนและสามารถสรุปผลการวิเคราะห์ในประเด็นนั้นได้ บทความมีเนื้อหาเน้นหนักไปในด้านวิชาการ เสนอความคิด วิทยาการใหม่ หรือเป็นการตีความ ค้นคว้าหาข้อเท็จจริงที่แปลกใหม่ของสังคมมาเสนอต่อผู้อ่าน
2.) บทความวิจัย (Research Articles) เป็นบทความที่นำเสนอผลการดำเนินการวิจัยอย่างเป็นระบบ และได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการวิจัย บทความประกอบด้วย ชื่อเรื่อง รายละเอียดผู้เขียน บทคัดย่อ และเนื้อหาซึ่งประกอบไปด้วย บทนำ วิธีการวิจัย ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วัตถุประสงค์ สมมติฐาน(ถ้ามี) ขอบเขตการ วิจัย ระเบียบวิธีวิจัย ผลการวิจัย สรุปและข้อเสนอแนะ และบรรณานุกรม
3.) บทความปริทัศน์ (Review Articles) เป็นบทความที่เขียนจากการรวบรวมความรู้ในเรื่องที่ น่าสนใจในปัจจุบันเรื่องใดเรื่องหนึ่งผ่านกระบวนการ วิเคราะห์ สังเคราะห์ เปรียบเทียบ และ/หรือวิจารณ์ เพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ในมุมมองใหม่ บทความประกอบด้วย บทนำ เนื้อหา วิจารณ์ สรุป และบรรณานุกรม
4.) บทวิจารณ์หนังสือ (Book Reviews) เป็นบทความเขียนเล่าเรื่องและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งโดยเจตนาจะแนะนำหนังสือเล่มนั้นให้ผู้อ่านรู้จัก โดยให้รายละเอียดทางบรรณานุกรมของหนังสืออย่างสมบูรณ์ รวมถึงประเภทของหนังสือ ขอบเขตเนื้อหา คุณลักษณะพิเศษหรือข้อเด่นของหนังสือ บทความกล่าวถึงการประเมินคุณค่า แสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลว่ามีค่าควรอ่านหรือควรจัดหา เหมาะสมกับผู้อ่านกลุ่มใด มีการเปรียบเทียบกับหนังสือเล่มอื่นในประเภทเดียวกัน โดยผู้วิจารณ์ควรมีความรู้ในสาขาที่วิจารณ์ ควรระบุชื่อหรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้วิจารณ์เพื่อใช้พิจารณาความน่าเชื่อถือของบทวิจารณ์
8.กระบวนการพิจารณาบทความ
รายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาบทความเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ประกอบด้วย
1.การพิจารณาบทความเบื้องต้น โดยกองบรรณาธิการ
เมื่อได้รับบทความจากผู้เสนอบทความ วารสารจะดำเนินการส่งให้กองบรรณาธิการพิจารณาเบื้องต้น ต่อมาการเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิและส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ โดยกองบรรณาธิการจะตรวจสอบรูปแบบบทความ ความสอดคล้องของวัตถุประสงค์และผลการวิจัย ความชัดเจนของเนื้อหา ความถูกต้องตามหลักวิชาการ รูปแบบการเขียนอ้างอิง รวมถึงความซ้ำ/ซ้ำซ้อนเบื้องต้นของเนื้อหาในบทความ (Duplications/Plagiarism) หากบทความมีรูปแบบไม่เป็นไปตามกำหนด หรือมีความซ้ำ/ซ้ำซ้อน กองบรรณาธิการจะไม่รับบทความดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณา
2.การพิจารณาบทความ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ
วารสารมีกระบวนการประเมินคุณภาพจากผู้ทรงคุณวุฒิก่อนตีพิมพ์ โดยบทความที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารได้ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ อย่างน้อย2- 3 ท่านในลักษณะปกปิดรายชื่อ (Double blind peer-reviewed) บทความที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเบื้องต้นแล้ว กองบรรณาธิการจะเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ 2-3 ท่าน เพื่อพิจารณาบทความโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่พิจารณาจะไม่อยู่ในสังกัดเดียวกันกับผู้เสนอบทความ ทั้งนี้บทความจากผู้นิพนธ์ภายในจะได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกหน่วยงานที่จัดทำวารสาร ส่วนบทความจากผู้นิพนธ์ภายนอกจะได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายใน หรือนอกหน่วยงานที่จัดทำวารสารที่มีความเชี่ยวชาญในสาขา และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
3.การปรับแก้ไขบทความ
เมื่อได้รับผลการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิครบแล้ว วารสารจะดำเนินการส่งผลการพิจารณาให้กับผู้เสนอบทความในช่องทางใดช่องทางหนึ่งในระบบอิเล็กทรอนิกค์ เช่นผ่าน E-mail เพื่อให้ผู้แต่งปรับแก้ไขซึ่งบทความที่จะได้รับการตีพิมพ์จะต้องมีผลการประเมินเป็น “เห็นสมควรให้ตีพิมพ์เผยแพร่” หรือ “ให้ตีพิมพ์โดยมีการแก้ไขปรับปรุง” จากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย2ใน 3 ท่าน ส่วนที่ผู้แต่งปรับปรุงแก้ไขให้ทำการเน้น(Highlight)หรือเปลี่ยนสีตัวอักษรเป็นสีอื่นเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับก่อนการแก้ไข
4.การพิจารณาความสมบูรณ์ของบทความหลังจากผู้เสนอบทความปรับแก้ไข โดยบรรณาธิการ
เมื่อผู้เสนอบทความปรับแก้ไขตามคำแนะนำของผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว วารสารจะดำเนินการส่งบทความที่ปรับแก้ไขส่งให้บรรณาธิการพิจารณาความสมบูรณ์ของบทความ กองบรรณาธิการจะตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของบทความ และความครบถ้วนของการแก้ไขบทความตามข้อเสนอแนะตามของผู้ทรงคุณวุฒิ
5.การออกใบตอบรับ และการตีพิมพ์บทความ
เมื่อกองบรรณาธิการพิจารณาความสมบูรณ์ของบทความแล้ว และเห็นสมควรให้ออกใบตอบรับและตีพิมพ์เผยแพร่ได้ วารสารจะดำเนินการออกใบตอบรับ และนำบทความตีพิมพ์เผยแพร่บนเว็ปไซต์ของวารสารต่อไป