คุณลักษณะการเป็นพลเมืองคุณภาพในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้: การวิเคราะห์องค์ประกอบสมรรถนะผู้เรียนขั้นพื้นฐานและสมรรถนะครูในการออกแบบการเรียนรู้

ผู้แต่ง

  • เกียรติสุดา ศรีสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คำสำคัญ:

พลเมืองคุณภาพ, สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้, การวิเคราะห์องค์ประกอบ, สมรรถนะผู้เรียนขั้นพื้นฐาน, สมรรถนะครูในการออกแบบการเรียนรู้

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การเป็นพลเมืองคุณภาพในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ และสมรรถนะครูในการออกแบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานสู่การเป็นพลเมืองคุณภาพในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ แหล่งข้อมูลประกอบด้วย กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิที่ช่วยในการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะผู้เรียน 10 ท่าน กลุ่มที่ใช้ ในการวิเคราะห์องค์ประกอบพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะผู้เรียนฯ จำนวน 1,107 คน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญช่วยในการตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะครู ฯ จำนวน 7 ท่าน และกลุ่มใช้ในการวิเคราะห์องค์ประกอบพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะครู ฯ จำนวน 1,155 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบสอบถามพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะผู้เรียนฯ     เป็นแบบประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งมีค่า t-test แสดงอำนาจจำแนกรายข้อมีค่าเท่ากับ 6.17-14.05 และได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 และแบบสอบถามพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะครูฯ เป็นแบบประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งมีค่า t-test แสดงอำนาจจำแนกมีค่าเท่ากับ 7.24-13.83 และได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.98 เก็บรวบรวมในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 สถิติที่ใช้การวิจัย คือ Correlation แบบเพียร์สัน Kaiser-Meyer-Olkin และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (Exploratory Factor analysis) ในการกำหนดค่าน้ำหนักองค์ประกอบและจัดกลุ่มพฤติกรรมบ่งชี้

          ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะผู้เรียนฯ มี 5 องค์ประกอบ คือ (1) ความฉลาดรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เพื่อการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน (2) ความลุ่มลึกการบริโภคสินค้าและการบริการอย่างชาญฉลาดเพื่อความยั่งยืน (3) ความมุ่งมั่นในการใช้ศักยภาพของตนและผู้อื่นสู่การพัฒนากระบวนการทำงานบนฐานเศรษฐกิจฐานความรู้ (4) สำนึกแห่งความเป็นพลเมืองเศรษฐกิจฐานความรู้ที่ยั่งยืน และ (5) ความมั่นใจต่อการใช้เศรษฐกิจฐานความรู้จะนำไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และองค์ประกอบพฤติกรรมบ่งชี้สมรรถนะครูฯ มี 3 องค์ประกอบ คือ (1) การออกแบบการจัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองคุณภาพในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (2) การใช้กรอบคิดแบบเติบโตในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นพลเมืองคุณภาพในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้  และ (3) ความรอบรู้และเชื่อมโยงหลักเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจให้ผู้เรียนรู้ เท่าทันโลกแห่งความจริง

 

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2024-11-04